วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - Printable Version +- NimitGuitar webboard (http://www.NimitGuitar.com/mybb) +-- Forum: All solid webboard (http://www.NimitGuitar.com/mybb/forumdisplay.php?fid=1) +--- Forum: พูดคุยสนทนาทั่วไป (http://www.NimitGuitar.com/mybb/forumdisplay.php?fid=2) +--- Thread: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง (/showthread.php?tid=716) Pages:
1
2
|
RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 "เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในการดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้หนังสือ "เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์" ถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ทรงได้รับของขวัญพระราชทานจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามากมาย ซึ่งทรงแก้ห่อพระราชทานเอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นว่า ของขวัญพระราชทานนั้นเป็นเครื่องดนตรี ก็ทรงโผเข้ากอดและทรงจูบสมเด็จย่าของพระองค์ด้วยความดีพระทัยยิ่ง ต่อมาขณะประทับอยู่ร่วมกับพระบรมเชษฐาธิราช พระเชษฐภคินี และพระบรมราชชนนี ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มเรียนดนตรีเป็นครั้งแรก โดยทรงสมัครเข้าเรียนแซ็กโซโฟนกับครูสอนดนตรีชาวอัลซาส ชื่อ เวย์เบรชท์ (Weybrecht) ซึ่งทำงานอยู่ที่ร้านขายเครื่องดนตรีและเป็นนักดนตรีในวงของสถานีวิทยุที่โลซานน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงขอพระราชนุญาตจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทรงซื้อแซ็กโซโนองค์แรกสำหรับพระองค์เองด้วย เป็นแซ็กโซโฟนสีน้ำเงิน ยี่ห้อ Conn โดยได้ทรงนำพระราชทรัพย์ที่ทรงออมไว้และพระราชทรัพย์ที่ทรงได้รับพระราชทานมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องดนตรีชิ้นนี้ RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเดี่ยวดนตรีได้หลายชนิด โดยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเครื่องดนตรีประเภทเป่าต่างๆ และทรงได้เกือบทุกชนิด นอกจากนี้ ยังทรงกีตาร์ได้เช่นกัน ต่อเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงหันมาทรงเปียโนด้วย ทั้งนี้ เพื่อทรงใช้ช่วยในการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังสามารถทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีแจ๊สนั้น สามารถทรงได้ทั้งแบบมีโน้ตและไม่มีโน้ต ดังมีผู้กล่าวถึงพระอัจฉริยภาพในเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "คีตมหราชสดุดี"ว่า "คนเราเวลาเล่นดนตรี ถูกสอนมาให้อ่านโน้ต เวลาเล่นดนตรีก็จะอ่านโน้ตเพลง แบบเกาะโน้ตตลอดเวลา แต่พระองค์ท่านสามารถทรงดนตรีได้ทั้งชนิดมีโน้ตและไม่มีโน้ต เวลามีโน้ตถึงตอนเดี่ยว (Solo) พระองค์ก็สามารถใช้พระราชปฏิภาณขณะเดี่ยวเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม แบบนี้นักดนตรีถ้าไม่ใช่ชั้นหนึ่งแล้วจะทำไม่ได้..." RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 ความไพเราะในเพลงพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์เพลงโดยทรงแต่งทำนองขึ้นก่อน แล้วจึงพระราชทานให้ผู้เชี่ยวชาญเขียนคำร้องแต่งถวาย บางเพลงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เช่น เพลง "Echo" และ "No Moon" บางครั้งมีผู้กราบทูลขอพระราชทานทำนองเพลงให้เพลงที่มีคำร้องอยู่ก่อนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปรีชาสามารถที่จะพระราชนิพนธ์ทำนองพระราชทานได้อย่างไพเราะเช่นกัน ดังเพลงพระราชนิพนธ์ "ความฝันอันสูงสุด" แต่บทเพลงพระราชนิพนธ์ไม่ว่าจะเป็นแบบ "คำร้องก่อนทำนอง" หรือ "ทำนองก่อนคำร้อง" ต่างก็ไพเราะและทรงคุณค่า แสดงถึงความเป็น "อัครศิลปิน" ของพระองค์ทั้งสิ้น การที่พระราชนิพนธ์ทำนองก่อนทำให้พระองค์ทรงใส่สีสันของดนตรีได้เต็มที่ และเป็นเพลงที่ "ฟังได้ดี" ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร กล่าวว่า "เพลงของท่านจะเริ่มจากทำนองถึงฟังได้ดี" เพราะเพลงโดยปกติแล้ว ถ้าคำร้องมาก่อน จะมีปัญหาตรงที่เสียงวรรณยุกต์ของไทย ทำให้แต่งยาก ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า "เพลงที่ว่าไพเราะต้องมาจากทำนองก่อน เพลงพระราชนิพนธ์ไพเราะทุกเพลง มาจากท่านทรงทำทำนองก่อน" นอกจากนี้ การที่เพลงพระราชนิพนธ์มีความไพเราะและแปลกกว่าของคนอื่นนั้น เป็นเพราะในการพระราชนิพนธ์เพลง ทรงคำนึงถึง Harmony (เสียงประสาน) และ back up (เสียงประกอบ) ส่งผลให้เพลงพระราชนิพนธ์ เป็นเพลงที่พร้อมในการใช้เพื่อการประสานเสียง ดังที่ คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความรู้อย่างแตกฉานด้านทฤษฎีการประสานเสียง(...) ที่ประทับใจมาก คือเพลงพระราชนิพนธ์ 'ฝัน' 'Somewhere Somehow' ได้เคยเรียบเรียงเสียงประสานขับร้องแบบ 'A Cappella' จะได้ยินเสียงประสานที่เข้มข้นอย่างชัดเจนและไพเราะมาก เป็นเพลงประเภทบัลลาด (Ballad) ที่มีคำร้อง (Lyric) และมีท่วงทำนองไพเราะแบบคลาสสิค สามารถนำมาเรียบเรียงเสียงประสานแบบคลาสสิคได้อย่างลึกซึ้ง เป็นที่นิยมในหมู่คณะนักร้องประสานเสียงที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ" RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 พระมหากรุณาธิคุณไปสู่พสกนิกร การทรงดนตรีและการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นงานอดิเรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดยิ่ง แต่พระองค์ก้ทรงทำให้งานอดิเรกของพระองค์เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหลายมิได้เป็นเพียงเครื่องให้ความบันเทิงแก่หมู่ชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนเครื่องมืออันแสนวิเศษที่ส่งผ่านพระมหากรุณาธิคุณไปสู่พสกนิกรของพระองค์ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง เพื่อใช้หารายได้บำรุงกิจการอันเป็นกุศลหลายอย่าง เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ "ยามเย็น" ที่พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรคเพื่อนำออกบรรเลงเก็บเงินบำรุงการกุศล เพลงพระราชนิพนธ์ "ยิ้มสู้" พระราชทานแก่สมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ เพลงพระราชนิพนธ์ชุด "มโนห์รา" พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย เพลงพระราชนิพนธ์ ?ลมหนาว ? พระราชทานเพลงนี้แก่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษเพื่ออัญเชิญไปบรรเลงในงานประจำปี (เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ภายหลังเสด็จฯนิวัตพระนครฯ เป็นการถาวรแล้ว ) RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 ครูสอนดนตรี ความสนพระราชหฤทัยในด้านการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียกได้ว่าเป็นแบบครบวงจร ทั้งนี้ เพราะนอกจากจะทรงเล่นดนตรี พระราชนิพนธ์ทำนอง คำร้องหรือเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงเป็นครูสอนดนตรีอีกด้วย "ลูกศิษย์" องค์สำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ในปีพ.ศ.2489 และได้พระราชทานคำอธิบายเกี่ยวกับเพลงบลูส์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพราะ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงมีปัญหาในการแต่งเพลงบลูส์ถวาย และเนื่องจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินั้น ทรงแต่งเพลงโดยไม่เล่นเครื่องดนตรีชนิดใดเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสอนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริเล่นดนตรีด้วย โดยทรงมีวิธีการสอนแบบครูแท้ๆ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงมีพระดำรัสเล่าว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนเป่าปี่ ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงสอนวิธีละเอียดมาก โดยให้ลูกศิษย์เป่าเสียงเดียวเป็นเวลานาน ทรงให้เหตุผลว่า ผู้เป่าจะได้เปล่งเสียงที่ออกมาคงเส้นคงวา ได้เสียงที่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อทรงแน่พระทัยแล้วว่าลูกศิษย์ทำได้อย่างคงเส้นคงวา ได้เสียงที่เที่ยงแท้แน่นอนแล้ว ก็จะทรงสอนวิธีเป่าให้มีเสียงหนักเบา หลังจากหนักเบาแล้ว ก็ถึงวิธีเป่าแบบเร่งเร้า กระชากโฮกฮากหลายอารมณ์ ทรงสอนให้ใส่ชีวิตเข้าไปในการเล่นดนตรีอีกทีหนึ่ง" ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเล่าถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นครูสอนดนตรีให้คนตาบอดว่า "นอกจากทรงดนตรีแล้วยังทรงสอนให้ผู้อื่นเล่นด้วย เคยเล่าพระราชทานว่าได้สอนคนตาบอดเล่ดนตรี สอนลำบากเพราะเขาไม่เห็นท่าทาง แต่พยายามอธิบายจนเข้าใจสามารถเป่าออกมาเป็นเพลงไพเราะได้หรือแม้แต่โน้ตเดียวในตอนแรก ดูสีหน้าแสดงความพอใจและภูมิใจมาก" ในพ.ศ. 2529 ทรงตั้งแตรวง "สหายพัฒนา" ขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์เกี่ยวกับกำเนิดของวงดนตรีวงนี้ไว้ว่า "...ตอนนั้นทรงประชวรมาก เสด็จแปรพระราชฐานที่เชียงใหม่ มีหมอหลายคนมาเฝ้าพระอาการถวายการดูแล เลยทรงสอนดนตรีให้เขาเล่น โดยเริ่มจากการที่ไม่มีใครเล่นอะไรเป็นสักชิ้นเดียว รับสั่งให้เขาไปหาซื้อเครื่องดนตรีมาคนละชิ้น ทรงพระอุตสาหะสอนตั้งแต่อ่านโน้ต ทรงเขียนโน้ตให้อ่านด้วยพระองค์เอง หมอคนไหไปเฝ้าฯ ต้องนำเครื่องดนตรีไปด้วย(...) ก็เลยเกิดวงดนตรีสหายพัฒนาขึ้นมา" แตรวง "สหายพัฒนา" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีนั้น นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะได้ช่วยกระชับสัมพันธ์ในหมู่แพทย์ประจำพระองค์ ราชองครักษ์ ข้าราชบริพาร และนักพัฒนา อาสาสมัครของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 การบำรุงรักษาเครื่องดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดนตรีที่เอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องการบำรุงรักษาเครื่องดนตรีอย่างสม่ำเสมอ เครื่องดนตรีส่วนพระองค์นั้น ทรงทำความสะอาดและเก็บด้วยพระองค์เอง โดยทรงถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมา ไม่เคยมีผู้ใดต้องทำความสะอาดเครื่องดนตรีถวายเลย และเมื่อเครื่องดนตรีชำรุดก็ทรงซ่อมด้วยพระองค์เอง หรือทรงสอนช่างให้ซ่อม ซึ่งก็สามารถทำให้ใช้การได้ดีเหมือนเครื่องใหม่ เครื่องเป่าที่โปรด เช่น แตร ก็ทรงทราบวิธีซ่อมเป็นอย่างดี โดยทรงเรียนรู้จากพระเจนดุริยางค์ จากร้านซ่อมและขายเครื่องดนตรีที่ทรงรู้จัก และจากการสังเกตของพระองค์เอง การที่ทรงบำรุงรักษาเครื่องดนตรีด้วยพระองค์เองโดยตลอดนี้ ทำให้ทรงรู้จักลักษณะและโครงสร้างของเครื่องดนตรีเป็นอย่างดี RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - SARUN - 06-12-2007 พระอัจฉริยภาพทางการประพันธ์และทรงดนตรีเพลงในสายตาชาวโลก เพลงพระราชนิพนธ์นั้น ได้มีการบรรเลงในประเทศต่างๆ โดยวงดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่เสมอ เป็นโอกาสให้ชาวต่างชาติได้ตระหนักในพระอัจฉริยภาพทางการประพันธ์เพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น การแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ โดยวง Carnegie Hall Jazz Band ซึ่งจัดแสดงที่นิวยอร์ค ในปีพ.ศ.2538 ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปีต่อมา ก็มีการแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์เช่นกัน ที่ Auditorio Nacional กรุง Madrid ประเทศ สเปนโดยวง Madrid Classical Orchestra นอกจากนี้ วงดนตรี NHK ของญี่ปุ่น และโรงละครบรอดเวย์ แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เคยอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลงด้วย เพลงพระราชนิพนธ์บางเพลง ยังแสดงถึงพระราชปฏิภาณอย่างสูงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย เนื่องจากทรงสามารถพระราชนิพนธ์เพลงเหล่านั้นได้โดยฉับพลันเมื่อมีแรงบันดาลพระราชหฤทัย เช่น ครั้งหนึ่งในวันพระราชทานเลี้ยงต้อนรับเจ้าหญิง Alexandra แห่ง Kent พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็พระราชนิพนธ์เพลง "Alexandra" ขึ้น ก่อนที่เจ้าหญิงจะเสด็จมาถึงเพียงครู่หนึ่งเท่านั้น ในส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับเชิญให้ทรงดนตรีพระราชทานร่วมกับนักดนตรีฝีมือเยี่ยมและวงดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกอยู่เนืองๆ เช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2503 ระหว่างพระกระยาหารค่ำซึ่งผู้ว่าการรัฐฮาวายในขณะนั้นจัดถวายที่วอชิงตันเพลสฮอนโนลูลู ได้ทรงดนตรีพระราชทาน 2 เพลงคือ เพลง "Blue in B Flat" กับเพลง "Back Home in Indiana" โดยทรงเป่าคลาริเน็ตร่วมกับวงดนตรีสวิงของ Kenny Alford and His Dixiecats" ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของเจ้าภาพ ความทรงเป็นกันเองเช่นนี้ ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่แขกเหรื่อชาวอเมิกันในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง สำหรับปวงชนชาวไทยทุกคน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพ่อผู้ทรงงานหนักเพื่อลูกไทยทุกคน ทรงสนับสนุนและส่งเสริมพสกนิกรของพระองค์ในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ เพราะทรงมุ่งหวังจะให้ประชาชนของพระองค์มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น และแม้แต่ด้านศิลปะการดนตรี พระองค์ก็ทรงเป็นกำลังสำคัญในการใช้ศิลปะอันแสนวิเศษนี้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ตลอดจนนำชื่อเสียงมาให้แก่ประเทศชาติ ทั้งนี้ เพราะพระคือองค์อัครศิลปิน ธรรมราชาผู้เป็นคีตราชันของพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง นับจากปี พ.ศ.2489 ตราบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์เพลงทั้งสิ้นจำนวน 48 เพลง แต่ละเพลงที่พระราชนิพนธ์นั่นต่างมีท่วงทำนอง จังหวะและเนื้อหาที่แตกต่างกัน ทั้งแนวบลูส์ แจ๊ส ไลท์มิวสิค วอลซ์ สโลว์ ควิกสเตป ฯลฯ หรือแม้แต่แนวคลาสสิค ประกอบการแสดง เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งประกอบการแสดงบัลเล่ต์ ชุดมโนราห์ RE: วันนี้...คุณบรรเลงเพลง พระราชนิพนธ์ แล้วรึยัง - pop_250823 - 06-12-2007 สอนผมหน่อย เล่นม่ายเป็นเลย |