พระราชประวัติ พระพี่นางฯ
ทรงพระเยาว์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ สถานพยาบาล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีพระอนุชา 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และ ในพ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ใน พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาลทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หลังจากที่ประสูติได้ไม่นานนัก สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงย้ายจากกรุงลอนดอนไปประทับอยู่ที่เมืองเซาท์บอน ทางฝั่งตะวันออก และหลังจากนั้นไปประทับที่เมืองบอสคัม ทางชายฝั่งทะเลด้านใต้ของประเทศอังกฤษ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือน ต.ค. พ.ศ. 2466 ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จกลับประเทศไทย
เมื่อเสด็จถึงประเทศไทย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานพระตำหนักใหญ่ของวังสระปทุมเป็นที่ประทับ พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล ซึ่งเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระบรมราชชนนี ระหว่างที่ทรงศึกษาวิชาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ถวายการอภิบาล
ต่อมาพ.ศ. 2468 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศส
การศึกษา
ใน พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทย เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ทรงนำพระธิดาและพระโอรสพระองค์ แรกไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กโซเลย์ (Champ Soleil) หลายเดือน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศส
ในปลาย พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตัน (Boston) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School) ใน พ.ศ. 2471
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard) จึงได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย และประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี และทรงศึกษาอยู่จนถึง พ.ศ. 2476 ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระโอรส-พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เข้าศึกษาในโซเลย์อีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลา ๒ เดือน แล้วจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาชื่อเมียร์มองต์ (Miremont) การศึกษาที่เมียร์มองต์นั้นครูมีการอ่านเรื่องสั้นๆ ให้ฟัง นักเรียนจะต้องเขียนเรื่องที่ได้ฟังส่งให้ครูตรวจ ในระยะแรกทรงเขียนได้เพียง 1 บรรทัด จากเรื่องยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษที่ครูอ่าน ครั้งหนึ่งครูให้เขียนประโยคเกี่ยวกับ TAON (ตัวเหลือบ) ทรงเข้าพระทัยคิดว่าเป็น PAON (นกยูง) เพราะเสียงคล้ายกัน จึงทรงเขียนว่า "TAON เป็นนกที่สวยงาม" แต่อีกต่อมาประมาณ 2 ปี ก็ทรงเขียนร่วมกับนักเรียนชาวสวิตได้อย่างดี จนจบชั้นประถมศึกษา
พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ และรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์สมบัติ หลังจากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงนำพระโอรส-พระธิดา ไปประทับที่บ้านซึ่งพระราชทานนามว่า วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เมืองปุยยี ใกล้กับโลซาน
พ.ศ. 2478 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรี ชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ชั้นมัธยมศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นับจาก ชั้น 6 5 4 3 2 1 ทรงสามารถสอบเข้าชั้น 5 ในระดับมัธยมศึกษาได้ ทรงเรียนภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย พ.ศ. 2481 ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่เจนีวา ในลักษณะของนักเรียนประจำที่ International School of Geneva ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาได้เยี่ยมเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. 2485 ได้เสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และได้รับ Diplôme de Chimiste A เมื่อ พ.ศ. 2491 ในระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ - ครุศาสตร์ Diplime de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเคมีแล้ว ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย
การทรงงาน
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ ได้รับสั่งแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส นิสิตที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ด้วยล้วนปีติยินดีในพระกรุณาธิคุณยิ่งนัก หลายคนรำลึกได้ว่าในวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสทรงสอนผลงานของ Victor Hugo นักประพันธ์เอกของโลก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. 2501 ใน พ.ศ.2512 คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอรับพระราชทานพระกรุณาให้ทรงเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงรับงานสอนและงานบริหารโดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ อันประกอบด้วยภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่างๆ และทรงดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
นอกจากนี้ได้ทรงจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2516 เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม
ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติงานสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบทูลเชิญเป็นองค์บรรยายพิเศษตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ในปี พ.ศ. 2519 เมื่อพระราชกิจด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก นอกจากนั้น ยังทรงรับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศสในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย
ต่อมาเมื่อทรงทราบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตา เสด็จไปทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสโดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์อื่นๆ
ระหว่างที่ทรงงานสอน ได้ทรงร่วมกิจกรรมทางวิชาการหลายด้าน เช่น ทรงเป็นกรรมการสอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นประธานออกข้อสอบภาษาฝรั่งเศสในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ หลังจากที่ปฏิบัติงานด้านการสอนมาจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนถึง พ.ศ. 2524 จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระอนุเคราะห์แก่สมาคมฯ ในทุกทาง อาทิ ทรงสนับสนุนการพิมพ์วารสารของสมาคม เพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ พระราชทานพระนิพนธ์บทความลงวารสาร ทรงส่งเสริมให้สมาชิกครูได้เข้ารับการสัมมนา ดูงานและศึกษาต่อ เป็นต้น การเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสและการวิจัยด้านภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาจึงเจริญรุดหน้าเป็นลำดับ
............. ;?? ?..............
*.:??*Parradee ...A Journey of Us - ?.:* *.:??*?;??
อย่าไปเอาอะไรกับนักเขียนนิยาย