ขอแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมานะครับ ถือว่ามาแลกเปลี่ยนกัน
ถ้าขัดแย้งกันบ้างคงไม่ว่ากัน
--------
เนื้อหาที่เขียนมามีหลายประเด็นน่าสนใจให้คิดต่อนะครับ
แต่ผมคิดว่า ออกจะตื้นเขินเกินไปที่จะสรุปออกมาเป็นประโยคดังหัวข้อกระทู้ที่ว่า
"เงิน...ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ"
ในความเห็นผม ดูเหมือนจะเป็นประโยคที่ตั้งใจเขียนแรงๆเพื่อดึงความสนใจ
..ซึ่งทำให้เนื้อหาดีๆดูด้อยค่าลงไป
ผมคิดว่า ถ้าว่ากันตามบริบทของเนื้อหาที่เขียนมา คงต้องมองเงินแบบแยกออกเป็นสองส่วน คือ ในส่วนที่มนุษย์เลือกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการสำหรับการอยู่ร่วมกัน
และในส่วนที่เงินส่งผลต่อพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์
สำหรับสังคมมนุษย์ เมื่อมีคนมาอยู่รวมกันมากๆแล้ว
ด้านดีของเงินก็มีมากมาย และในระดับหนึ่ง มันก็ทำหน้าที่จัดระบบ ระเบียบให้กับการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
และมันก็เหมือนสิ่งอื่นๆบนโลกนี้ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้มันในทางไหน
ถ้าจะบอกว่า เงินคือความผิดพลาด เพราะมันทำให้คนละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ ทำให้คนโลภจนทำผิดศีลธรรม
ผมก็ออกจะสงสัยว่า ความผิดพลาดนั้นอยู่ที่เงินจริงหรือ
ผมรู้สึกคล้ายๆว่า เราขับรถไปไหนสักแห่ง พอโดนชนขึ้นมาได้รับบาดเจ็บ ก็บอกว่า เนี่ยแหละ เพราะมนุษย์สร้างรถขึ้นมาใช้ รถคือความผิดพลาด
...เปรียบเทียบอย่างนี้อาจจะสุดโต่งไปหน่อยนะครับ แต่คงพอจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ผมมองว่า เงินก็เป็นเพียงสื่อกลางที่นำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนในสังคม เหมือนรถที่เป็นเพียงเครื่องมือพาเราไปสู่จุดหมาย
หนทางแก้ไข คงไม่ใช่เลิกใช้เงินเป็นสื่อกลาง หรือว่า เลิกใช้รถเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
ก็คงต้องมาดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ถ้าเป็นรถก็อาจจะมีการออกกฎจราจร หรือ รณรงค์เรื่องเมาแล้วขับ,เรื่องห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
ถ้าจะพูดถึงเรื่องเงินในประเด็นของมูลค่าเงินในการแลกเปลี่ยนสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้คนละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อมไปจนถึงทำผิดศีลธรรม
สิ่งที่อาจจะทำได้ ก็มีหลายวิธีนะครับ ตั้งแต่อ่อนไปถึงแข็ง เช่น การให้ความรู้,ส่งเสริมการพัฒนาด้านจิตใจ,ส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ตรากฎหมายขึ้นมาและมีบทลงโทษ ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดว่า พลาสติกย่อยสลายได้ยากมากใช้เวลาหลายร้อยปี และคิดว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย
ก็อาจจะมีการจำกัดการใช้พลาสติก, มีข้อกำหนดเข้มงวดในการตั้งโรงงาน, เก็บภาษีสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า นโยบายเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อราคาถุงพลาสติกและจะทำให้คนใช้น้อยลง
สรุปแล้ว ผมคิดว่า เราสามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรด้วยการใช้กุศโลบายที่เหมาะสมผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์ โดยตัวของมันเองนั้น,เงินก็เป็นเพียงเครื่องมือตัวหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันยังไง
ส่วนที่พูดถึงอารยธรรมโลกที่บอกว่า ดำเนินมาอย่างผิดพลาดนั้น ผมเข้าใจว่านัยยะที่ต้องการจะสื่อคือ เงินส่งผลต่อความล่มสลายของอารายธรรมต่างๆที่เคยมีมาตั้งแต่โบราณกาล
ผมมีความเห็นว่า อารยธรรมต่างๆในประวัติศาสตร์โลกนั้น ที่ล่มสลายไปเกิดจากหลายๆปัจจัย
(ตรงนี้เราคงพูดกันถึงอารยธรรมที่เสื่อมลงไปเอง,ไม่ไช่ที่ถูกรุกรานจนสูญสลายไป)
ตามที่ผมเข้าใจ สาเหตุส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอำนาจนิยมมากกว่าทุนนิยม
อันที่จริง อำนาจและเงินตรานั้นกี่ยวข้องกันอยู่เยอะทีเดียว เพราะสองสิ่งนี้มักจะมาพร้อมๆกัน
เพียงแต่ว่า สิ่งที่ทำให้อาณาจักรต่างๆล่มสลายไป ไม่ได้มาจากการใช้ระบบเงิน หรือ แม้กระทั่ง-ถ้าจะพูดว่าสาเหตุเกิดจากคนในสังคมบ้าเงิน หรือวัตถุนิยม-ก็ยังไม่ใช่ซะทีเดียว
ผมคิดว่า สาเหตุหลักๆเกิดจากการที่ชนชั้นปกครองต้องการรักษาอำนาจและประกาศความยิ่งใหญ่
และควรกล่าวไว้ด้วยว่า อำนาจนิยมก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัย
คราวนี้มาถึงส่วนที่สองที่ผมพูดถึงไว้แต่แรก คือ ในแง่ที่ว่าเงินส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์
ในอีกนัยหนึ่งของบทความนี้ พยายามจะบอกว่า สังคมทุกวันนี้ มนุษย์ให้ความสำคัญกับเงินมากเกินไป ในส่วนนี้ผมเห็นด้วยครับ
แต่เพื่อความเป็นธรรมก็คงต้องบอกไว้ด้วยว่าในแง่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์นั้น
เงินก็มีส่วนทำให้คนเกิดความมุ่งมั่น, ตั้งใจหาเลี้ยงชีพ, สร้างผลผลิต, สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆออกมาให้โลก
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดความโลภจนทำผิดศีลธรรม หรือ ละเมิดสิทธิของคนอื่น, ยังมีคนอีกมากที่ยอมรับในค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับผลผลิตที่ตัวเองสร้างขึ้นมา
สิ่งใดๆก็ตามถ้ามันสามารถคงอยู่ได้มายาวนาน ผมคิดว่า ก็เหมือนเป็นการพิสูจน์ว่า มันมีข้อดีมากกว่าข้อเสียและเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในสังคม อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้นๆที่ยังมีการใช้มันอยู่
แต่ใช่ครับ ทุกวันนี้ มนุษย์ให้ความสำคัญกับเงินมากเหลือเกิน เพราะความสะดวกสบายที่ได้รับจากการมี และ การได้รับการยอมรับจากสังคม(ขั้น 4ของพีระมิดมาสโลว์ (ดูรูปจากความเห็นน้าปุ๊..หุหุ))
ทัศนคตินี้คงเปลี่ยนได้ยากนะครับ แต่น่าจะค่อยๆเปลี่ยนได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมหันมาชื่นชมและยอมรับคนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ฟุ้งเฟ้อ
ยิ่งใช้ได้คุ้มค่าและพอดี ยิ่งเป็นที่ชื่นชม,น่านิยม อะไรแบบนั้น และ เมื่อมีมากเกินพอที่ตัวเองจะใช้ได้หมดก็แสดงน้ำใจเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ ก็ยิ่งได้รับการยอมรับ
แต่ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ถึงขั้นนี้ก็ยังเป็นการยึดติดกับชื่อเสียงและการยอมรับนะครับ
หนทางที่จะไปสู่ขั้นที่ทุกคนสามารถเข้าถึงศีลธรรมอย่างแท้จริง (ขั้นที่ 5 - ดูภาพประกอบน้าปุ๊อีกรอบ)จะเป็นไปได้อย่างไร ผมก็ยังนึกไม่ออก..
--------------
ขอบคุณน้าปุ๊ สำหรับภาพประกอบครับ ..