Webmaster
Administrator
Posts: 5,605
Likes Given: 310
Likes Received: 244 in 132 posts
Joined: 28 Aug 2007
Reputation:
47
|
RE: Story of an old man from long ago and far away
คั่นโฆษณาครับ...อิอิ
เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2491 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นาวาตรีทวี และนางอบเชย พุทธินันทน์ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ
จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรวัต เริ่มสนใจเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือ แซ็กโซโฟน หลังบ่มเพาะจนมีความสามารถ ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้รวมกลุ่มเพื่อนๆ ตั้งวงดนตรีชื่อ Dark Eyes รับเล่นตามงานสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite และได้เข้าประกวดดนตรี ในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในปี 2508 และ 2509
เมื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2510 เต๋อ-เรวัต ได้ร่วมกับเพื่อน ตั้งวงดนตรีชื่อ Yellow Red เพื่อนสนิทสองคน ที่ร่วมวงอยู่ด้วยคือ ดนู ฮันตระกูล และจิรพรรณ อังศวานนท์ ต่อมาเมื่อ Yello Red สลายตัวไป วง The Thanks จึงเกิดขึ้นมาแทน โดยเรวัตเป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเพื่อนๆ นักดนตรีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นมี กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา ร่วมอยู่ด้วย The Thanks ออกแสดงตามงานของมหาวิทยาลัย ความเป็นวงดนตรีนำสมัย เล่นและร้องเพลงเต้นรำสมัยใหม่ ทำให้วงนิสิตนักศึกษาอย่าง The Thanks ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น และได้รับการติดต่อให้ไปแสดงสลับกับวงดนตรีดังอย่าง สุนทราภรณ์ และดิ อิมพอสสิเบิ้ล
ปี 2515 เรวัตอยู่ในช่วงเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการชักชวนจากวงดิ อิมพอสสิเบิ้ล ให้เดินทางไปร่วมแสดงที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งนักร้องนำ และมือคีย์บอร์ด วงดิ อิมพอสสิเบิ้ล ตระเวนเล่นดนตรี ในประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย และหลังสุดคือ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เรวัตเป็นสมาชิกวงดิ อิมพอสสิเบิ้ลอยู่ 4 ปี หลังจากยุบวงในปี 2520
วินัย พันธุรักษ์ เป็นผู้ชักชวนเรวัต พุทธินันทน์ ตั้งวงดนตรีชื่อ The Oriental Funk ตระเวนเปิดการแสดงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้น เรวัตก็ได้ศึกษาการเขียนเพลงและดนตรีเพิ่มเติม ก่อนจะกลับมาเล่นประจำที่คลับคาซาบลังกา โรงแรมมณเฑียร The Oriental Funk ร่วมกันเล่นดนตรีอยู่ประมาณ 4 ปี ก่อนจะถึงจุดอิ่มตัว ที่สมาชิกทุกคนแยกย้ายกันไปทำงานส่วนตัว เรวัตเริ่มทำงานเบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับค่ายเพลง และตั้งบริษัทกับวินัย พันธุรักษ์ ทำงานเพลงโฆษณา เพลงประกอบภาพยนตร์
ปี 2525 เรวัตทำหน้าที่ผู้ช่วยอัดเสียง ที่ห้องอัดเสียง JBL ก่อตั้งบริษัท อาร์ เอ็น เอ โปรดักชั่น ผลิตงานเพลงและดนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมร้องเพลงที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กระทั่งปี 2526 ได้ร่วมก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการฝ่ายผลิต โปรดิวเซอร์งานเพลงไทย และสากล ให้กับศิลปิน เช่น พญ.พันทิวา สินรัชตานนท์, นันทิดา แก้วบัวสาย, ฐิติมา สุตสุนทร และธงไชย แมคอินไตย์
เรวัต พุทธินันทน์ ได้สร้างสรรค์อัลบั้มของตนเองไว้ 4 อัลบั้ม คือ อัลบั้ม "เต๋อ 1", "เต๋อ 2", "เต๋อ 3" และ "ชอบก็บอกชอบ" เนื้อเพลงที่เขียนขึ้นเปี่ยมไปด้วยแนวคิด ปรัชญาชีวิต ตำแหน่งสุดท้ายของเรวัต พุทธินันทน์ คือ ประธานกรรมการบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มหาชน
เรวัต พุทธินันทน์ สมรสกับ อรุยา (สิทธิประเสริฐ) พุทธินันทน์ ในปี 2517 หลังจากทั้งคู่คบหากันมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน คือ สุทธาสินี (แพ็ท) และ สิดารัศมิ์ (พีช) พุทธินันทน์
เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ จากไปอย่างสงบเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 27 ตุลาคม 2539 หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายที่สมอง ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว เพื่อน พี่น้องที่ร่วมเส้นทางชีวิต ทว่าผลงานของเต๋อ-เรวัต ได้สร้างสรรค์ไว้ ก็ยังคงอยู่และได้รับการขับขาน
และด้วยเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันได้เกิดมูลนิธิเรวัต พุทธินันทน์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ และสืบทอดความตั้งใจที่ต้องการจะส่งเสริม และสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ในทุกๆ ด้านของดนตรี โดยทางมูลนิธิได้ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสร้าง "ห้องสารนิเทศทางดนตรี เรวัต พุทธินันทน์" ขึ้น เพื่อให้บริการความรู้ด้านดนตรีแก่คนรุ่นหลัง ตามที่เรวัต พุทธินันทน์ เคยตั้งปณิธานไว้.
นักแต่งเพลงรุ่นน้องของเรวัต พุทธินันทน์ ในบริษัทแกรมมี่ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ได้กล่าวถึงช่วงชีวิตของเขา จุดหักเหก้าวเข้าสู่อาชีพนักแต่งเพลงมือทอง เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ มีส่วนอย่างมาก
"จิก (ประภาศ ชลศรานนท์) เอาเทปเดโมทำนองเพลงเพลงหนึ่งให้ผมเขียนเพลงประกอบหนังเรื่อง วัยระเริง อำพล ลำพูน กับ วรรษมน วัฒโรดม เล่นเป็นดาราใหม่ทั้งคู่ อาเปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นคนกำกับ พี่เต๋อเป็นคนทำเพลง จิกเขียนเพลงยุโรป เฮฮาปาร์ตี้ ชีวิตนี้ของใคร และให้ผมเขียนเนื้อเพลง ดนตรีในดวงใจ ในหนังเรื่องนั้น"
ดี้-นิติพงษ์ กล่าวย้อนถึงเพลงแรกที่แต่งแล้วได้สตางค์ แต่กลับตาลปัตรเพราะบนหน้าปกแผ่นในหนังวัยระเริงไปให้เครดิต วาชิต รัตนเพียร
"ต่อมาพี่เต๋อเริ่มทำเพลงเต๋อ 1 ผมได้รับเพลง ดอกฟ้ากับหมาวัด กับเพื่อนเอย มาแถมยังเอาเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว มาฝากให้เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) ได้แต่งด้วย โดยที่ผมไปรับเมโลดี้มาจากพี่เต๋อ เรานัดกันที่ห้องอัดเสียงทอง หลังจากแต่งเสร็จพี่เต๋อโทร.มาบอกว่าพรุ่งนี้จะให้เอาเงินค่าแต่งเพลงไปให้ ที่ไหน สองพันบาทน่ะ ผมบอกว่าไม่เคยเห็นคนแบบพี่นะคนในวงการเพลง วงการบันเทิงที่เขาจะมาตามถามว่าจะเอาเงินไปจ่ายให้ได้ยังไงบ้าง ผมเคยได้ยินแต่เบี้ยว กับเช็คเด้ง"
เสียงพี่เต๋อก็ตอบประมาณว่า เอาเหอะ ดี้จะให้เราไปหาที่ไหน ผมก็บอกแค่ว่าพรุ่งนี้ผมมีถ่ายทำรายการที่ช่อง 9 อสมท. แต่ในใจนึกถึงว่าถ้าผู้ชายคนนี้เอาเงินมาให้กูถึงที่จริง สองพันแค่นี้กูจะจดไว้ในใจเลยว่า ถ้าชวนกูไปหัวหกก้นขวิดกับชีวิตที่ไหน กูจะไปด้วย
และแล้ว เรวัต พุทธินันทน์ พูดจริงทำจริง ขับรถมาสด้า 626 สีขาว มาจอด แล้วเดินเข้าไปหาดี้-นิติพงษ์ขณะกำลังทำรายการอยู่ เวลาผ่านไปไม่พ้นปี วันหนึ่งมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เป็นเสียงแหบๆ ของเต๋อ-เรวัต ชวนดี้-นิติพงษ์ไปทำงานด้วย ไม่ต้องคาดเดาคำตอบกลับ และทั้งคู่นัดหมายไปเจออากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ที่อาคารวาณิช
"คุณไพบูลย์เสนอให้ผมเป็นเงินเดือนเดือนละหนึ่งหมื่นบาท แต่งเพลงอีกต่างหากอีกเพลงละหนึ่งพัน ผมต่อรองขอเดือนละสองหมื่นบาท แต่งเพลงอีกเพลงละสองพัน คุณไพบูลย์เงียบไปครู่หนึ่ง แล้วก็ตกลง และตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ผมก็ไม่เคยต่อรองอะไรกับเขาอีกเลย"
นิติพงษ์ ห่อนาค กลายเป็นนักแต่งเพลงอาชีพ โดยมีเต๋อ-เรวัต เป็นเจ้านาย และมีไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นคนจ่ายเงิน และมีนักดนตรีระดับเซียน ป๊อก-วิชัย อึ้งอัมพร, ตั๋ม-จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ไพฑูรย์ วาทยะกร, อัสนี โชติกุล, อภิไชย เย็นพูลสุข, ชาตรี คงสุวรรณ, สมชาย ก ฤษณะเศรณี, สมชัย ขำเลิศกุล และชุมพล สุปัญโญ.
(ขอบคุณข้อมูลจากคุณ พงษ์ สไปซ์เดย์ ...ครับ)
|
|
10-05-2009, 18:20 |
|
|