(07-11-2009, 22:32)napman Wrote: ผมว่า สิ่งที่เขาพูดเป็นไปได้นิติภูมิ ทำให้ผมต้องกลับมาซื้อของโชห่วยของคนไทย
แทนที่ไปเดิน big-c, lotus, careflour, เพราะผมบอกแม่บ้านและลูก ๆ ว่า
เราซื้อของร้านโชห่วย ข้างบ้าน ไม่ต้องไปห้างใหญ่อีกเพราะอะไร
เ พราะเราไป คาร์ฟู เงิน 100 บาทที่เราจ่ายไปจะไปสู่ฝรั่งเศส 86 บาท เหลือให้คนไทย 14 บาท
เพราะของต่างชาติเกือบ 100 เปอร์เซนต์ บิกซี โลตัสเหมือนกัน
นิติภูมิเคยเอาเปอร์เซนต์ที่ต่างชาติถือหุ้นมาลงให้ดู ของ 3 ห้างดัง
ผมตกใจมาก และตัดสินใจซื้อน้ำปลาข้างบ้านตั้งแต่วันนั้น
เพราะว่าต่างชาติถือหุ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วบางห้าง 86 ปอร์เซ็นต์
สอนลูกว่ามันจะแพงกว่าห้าง 3 บาท ก็ซื้อที่นี่มันจะแพงกว่า 5 บาทก็ซื้อที่นี่
เพราะมันจะเป็นภาษีคนไทย กลับมาหาลูกเอง ผมคิดแบบนี้จริง ๆ ๆ
ถ้าซื้อจากห้าง 1,000บาท มันไหลไปต่างประเทศ 900บาท ที่เหลือ 100 บาท
ที่เห็นจ่ายค่ายามเฝ้าห้างไง มองอาเจนติน่าง่ายนิดเดียว
ห้างต่างชาติบุกไปตั้งมากกว่า 400 ห้าง ทั่วประเทศ
คนอาเจนติน่าจึงทำเงินส่ง คาร์ฟู ส่งห้างต่างชาติ เกือบ100 เปอร์เซ็นต์
เงินคนทั้งชาติของชาวอาเจน จึงไหลไปหมด ในประเทศจึงไม่เหลืออะไร
ทางสุดท้ายที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าทำได้ ผมพาลูกผมหัดทานขนมกรอบให้น้อยลง
เลิกกิน kfc และพยายามทานให้ลดลง และจำนวนหน ต่อปีน้อยสุด
ผมอธิบาย วิธีสิ้นชาติแบบทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มจนจบให้เด็กที่บ้าน และลูกฟัง
หัดให้ลูกมาทานบัวลอย ขนมชั้น ข้าวเหนียวเปียกแทน ถั่วดำข้าวเหนียว ดีครับ
ได้ผล... ลูกเปลี่ยนวิธีกิน... วิธีคิดไปเลย ... เปลี่ยนไปได้มาก
พอเย็นสั่งผมซื้อเต้าส่วนบ้าง ขนมชั้นบ้าง ลูกเดือยบ้าง
ผมพูดนิดนึงที่เขาเข้าใจคือ ผมไปตลาดซื้อไก่ทอดแม่ค้ามา 3 ขาไก่ทอดแบบไทย ๆ
แล้วผมไป kfc ซื้อมา 3 ชิ้น เลือกน่องครับเหมือนกัน ราคาต่างกันลิบเลย
ผมก็อธิบายคำว่า license ( ค่าลิขสิทธิ์ ) ให้ลูกฟัง
ผมบอกว่า ซื้อไก่ 35 บาท ค่าไก่ 15 บาท ที่เหลือเป็นค่าลิขสิทธ
ไก่แม่ค้าที่ถูกเพราะไม่มีค่าลิขสิทธิ ใบตองที่ห่อขนมไทย ไม่มีลิขสิทธิ
มันเป็นวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ไม่ถึง 3 เดือน
ขนมต่างชาติ ห่อสวย แพง เพราะยี่ห้อมันมีลิขสิทธิ
เวลามันหล่นที่พื้น ไม่มีคนเก็บมันจะย่อยสลายภายใน 200 ปี
ผมสอนแบบนี้ ลูกผมเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเลย ผมทำได้และได้ทำแล้ว
ปล. ใคร่จะขอกรุณาช่วยนำบทความไปเผยแพร่ต่อ จะเป็นพระคุณมากครับ
ยาวไปหน่อย แต่อยากให้อ่าน
ผมขอแสดงความเห็นในส่วนของBig-C, โลตัส, คาร์ฟูร์ VS โชห่วย ละกันนะครับ เพราะคิดว่า เรื่องนี้มีอะไรที่น่าพูดถึงมากกว่าการคิดว่า ซื้อของโชห่วยคือช่วยชาติทางหนึ่ง เพราะเงินยังอยู่ในมือคนไทย
การที่ห้าง B,C,L สามารถเสนอราคาได้ถูกกว่าร้านโชห่วย และสามารถดึงคนซื้อไปได้มากกว่านั้น มันมีที่มาที่ไปจากกลไกเศรษฐศาสตร์และการวางแผนที่ดี
ราคาของที่ถูกกว่านั้นมีที่มาจากอำนาจต่อรองโดยการสั่งซื้อจำนวนมาก และ ใช้ประโยชน์จากการบริหารโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ร้านโชห่วยทำไม่ได้ ด้วยสเกลที่เล็กกว่ามาก
ว่าที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่คนไทยยังทำไม่ได้ เพราะ เบื้องหลังการสั่งซื้อและการบริหารจัดการนี้ คือ ทฤษฏีทางวิชาการแบบฝรั่งที่มีการศึกษาอย่างยาวนานและการนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง
ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราเดินตามหลังฝรั่งมาตลอด
ข้อสังเกตที่ผมอยากจะเสนอ คือ การที่ผู้ผลิตสามารถให้ราคาสามห้างถูกกว่า ย่อมต้องบวกลบคูณหารแล้วว่า เมื่อคิดภาพรวมแล้วการขายให้สามห้างนั้นจะต้องได้กำไรมากกว่าหรือเท่ากับที่ขายให้ร้านโชห่วย
ซึ่งต้นทุนที่ลดลงไปนี้ก็อาจจะมาจากหลายปัจจัยนะครับ เช่น การใช้ต้นทุนคงที่อย่างคุ้มค่าในการผลิตคราวละมากๆ, การวางแผนงานล่วงหน้าได้จากจำนวนการสั่งซื้อที่แน่นอนและสม่ำเสมอ, ค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการบริหารการขนส่ง
สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลกับการบริหารจัดการภายในโรงงานตัวเองแล้ว ยังสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับ supplier ของตน ได้อีกทอดหนึ่งด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถซื้อวัตถุดิบของตนได้ถูกลงในทำนองเดียวกัน
นอกจากเรื่องต้นทุนในการบริหารแล้ว สิ่งที่การทำสเกลใหญ่จะได้เปรียบคือ จำนวนของเสียที่จะน้อยลง
ลองเดินเข้าไปร้านโชห่วย เราจะเห็นว่า ของหลายอย่าง เช่น ซีอิ๊วบางขวด เก็บมานานจนฝุ่นเกาะ ไม่รู้ว่าหมดอายุไปหรือยัง
นี่คือ สิ่งที่เสียไปฟรีๆ โดยที่เจ้าของร้านโชห่วยหรือผู้บริโภคที่โชคร้ายต้องแบกรับภาระไป
การหมุนเวียนสินค้าในสเกลใหญ่จะทำให้จำนวนของเสีย, ของหมดอายุ น้อยลง เพราะ สามารถถ่ายของได้เร็วและมีการวางแผนการสั่งซื้อที่ดี
ในแง่ของอุปสงค์(Demand)เองก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะ ของถูกรวบรวมไว้ที่เดียว,วางไว้ให้หยิบหาง่าย, ของดูใหม่ ทำให้คนพร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายได้ง่ายขึ้น
ลองนึกดูเวลาเราไปร้านโชห่วยเราก็จะไปถามหาของที่เราจำเป็นต้องใช้ ซื้อเสร็จก็รีบกลับ ไม่คิดจะเดินทอดหุ่ยดูอย่างอื่นเพลินๆ เพราะบรรยากาศไม่น่าอภิรมย์เอาซะเลย
เวลาไปเดินโลตัสมันน่าเดินดูนั่นดูนี่กว่าเป็นไหนๆ ไอ้ที่ไม่นึกจะซื้อ บางทีก็ซื้อเอาง่ายๆ
และเมื่อกำลังซื้อเพิ่มขึ้นก็จะย้อนกลับไปที่สเกลการผลิตที่ใหญ่ขึ้นและต้นทุนที่ถูกลงอีก
ผมกำลังจะบอกว่า เราไม่อาจจะมองว่า ต้นทุนน้ำปลาหนึ่งขวดที่ขายให้ร้านโชห่วย กับ ที่ขายให้สามห้างยังมีราคาเท่ากันอยู่
เดิมที่ผู้ผลิตมีต้นทุนน้ำปลาขวดละ 10 บาท อาจจะขายให้โชห่วย 11 บาท แล้วโชห่วยขายให้ผู้บริโภค 12 บาท
ด้วยความได้เปรียบจากขนาด เมื่อต้นทุนของผู้ผลิตลดลง สมมติเหลือ 9 บาท ก็จะทำให้ผู้ผลิตสามารถขายให้สามห้างที่ราคา 10 บาทโดยที่กำไรยังคงเดิม และ สามห้างขายให้ผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าโชห่วยได้คือ ที่ 11 บาท
ร้านโชห่วยเองนั้น ทุกวันนี้หลายร้านก็ซื้อจากสามห้างเพราะด้วยจำนวนสั่งซื้อที่น้อยกว่ามาก ราคาที่ได้ก็ไม่ต่างจากซื้อจากผู้ผลิตมากนัก
ถามว่า ผู้ผลิตได้กำไรลดลงไหม อาจจะมีครับ แต่ผมคิดว่าส่วนใหญ่ได้กำไรเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า ทำไปแล้วอาจจะไม่ได้กำไรมากกว่าขายให้โชห่วยอย่างที่คาด แต่อย่างน้อย ตอนที่ตัดสินใจจะขายให้สามห้าง ทางผู้ผลิตจะต้องได้ข้อเสนอที่คุ้มค่ากว่าเดิม และถ้าไม่คุ้มก็คงเลิกส่งของให้ไปแล้ว
ถามว่า ผู้บริโภคได้อะไร ก็เห็นกันง่ายๆนะครับว่า ได้ของที่ถูกลง และจับจ่ายซื้อของได้สะดวกขึ้น
ถ้าอย่างนั้น เงินที่ต่างชาติเอาไปคือเงินจากใครในระบบเดิม แย่งกำไรไปจากร้านโชห่วยหรือ
น่าเศร้าที่จะต้องบอกว่า ใช่ แต่คงต้องกล่าวไว้ด้วยว่า กำไรนี้มาจากเงินที่เสียไปโดยไม่จำเป็นในระบบเดิม
เช่นนั้นแล้ว ถ้าจะบอกว่า เราอยากจะช่วยชาติโดยซื้อของร้านโชห่วย เพราะเงินจะได้อยู่ในมือคนไทย
ก็ยังอยู่จริงๆล่ะครับ แต่คงต้องระลึกไว้ด้วยว่า เงินจำนวนนี้คือ เงินที่เราเอาไปทิ้งกับการสูญเสียที่เกิดจากระบบที่มีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า โดยได้ของเหมือนเดิม
ผมมองว่า สิ่งที่สามห้างเสนอให้ เป็นเพียงเครื่องมือในการจัดการการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพกว่า และไม่มีใครเสียประโยชน์ไปมากนัก นอกจากห่วงโซ่ที่อ่อนแอในระบบเดิม ซึ่งก็ต้องพัฒนาตัวเองโดยหาจุดขายอื่น หรือไม่ก็ ไปทำอย่างอื่นที่สร้างประสิทธิภาพที่ดีกว่าให้กับสังคม
มองในอีกแง่หนึ่ง ถึงแม้ร้านโชห่วยจะล้มหายตายจากไปบ้าง แต่สามห้างนี้ก็สร้างงานสร้างอาชีพอื่นๆขึ้นมาทดแทน ตั้งแต่การก่อสร้าง, การบริหารงาน, เจ้าหน้าที่ต่างๆอีกมากมาย ซึ่งอาจจะใกล้เคียงจำนวนร้านโชห่วยที่หายไปก็ได้นะครับ
ในระยะยาว ก็คงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปได้นะครับ ว่า อาณาจักรที่สามห้างสร้างขึ้นมาอาจจะสร้างอำนาจต่อรองได้มากเกินไปและส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆมากกว่าจะกระทบแค่โชห่วย
แต่อย่าเพิ่งตระหนกไปครับว่า ซื้อของ 100 บาท เงินไปอยู่ฝรั่งเศสตั้ง 86 บาท แล้วอีกหน่อยเงินคงถูกดูดจากประเทศไทยไปเรื่อยๆ
เงินที่เราซื้อของไป 100 บาทไม่ได้ไหลไปฝรั่งเศส 86 บาท ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนสินค้า ซึ่งก็ยังอยู่กับผู้ผลิตไทยนี่แหละครับ.