(20-05-2009, 17:18)Maew Wrote: ปล. เห็นกระทู้ป้ามุก ไปภูฏานมา อยากถามเหมือนกันว่า ชีวิตความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต, แนวคิดของคนที่นั่นเป็นยังไงบ้าง ป้ามุกมีอะไรเพิ่มเติมก็ยินดีนะครับ
จริงครับ น้าหม่าว
ผมเชื่อว่า ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าชาวภูฏานได้สัมผัสเทคโนโลยีแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่อยากได้อยากมี
นอกจากจะศึกษาธรรมะมาตลอดอย่างสม่ำเสมอ
ขอโทษที่ตอบช้าไปมากครับน้า Maew แต่ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีเพราะไปท่องเที่ยวแค่ไม่กี่วัน (ถ้าแบบคลุกคลีตีโมงต้องยกให้น้า Littlenomad ครับ) เอาเป็นว่าขอเล่าไปตามที่สองตาน้อยๆ จะมองเห็นและเท่าที่หัวใจดวงเล็กๆ ของผมจะสัมผัสได้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทัศนคติซึ่งกันและกันนะครับ
แน่ละว่าตอนนี้ต้องมีคน 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในภูฐาน คือกลุ่มที่ยังยึดมั่นถือมั่นในแนวทางดั้งเดิม กับกลุ่มที่กระหายเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกยุคใหม่ ซึ่งผมไม่อาจฟันธงได้ว่ากลุ่มดั้งเดิมคือคนชราและกลุ่มหลังคือ Gen-X และ Gen-Y เพราะอย่างน้อยผมก็พบว่าไกด์และคนขับรถซึ่งมีอายุราว 30 ปี ยังมีแนวความคิดแบบนกน้อยทำรังแต่พอตัวอยู่ ผมพบว่าเขาเปิดรับเทคโนโลยีบางอย่างซึ่งจำเป็นกับการทำธุรกิจท่องเที่ยวเล็กๆ ของเขา แต่เขาก็ยังยึดมั่นในการทำความดีตามหลักพุทธศาสนานะครับ
ไปเที่ยวมา 9 วัน พบทั้งคนที่ให้คือให้จริงๆ และคนโลภมาก สำหรับคนที่ให้จริงๆ ไกด์เล่าว่าเขาให้บนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาว่าการทำดีอย่างหนึ่งคือการทำให้คนรอบข้างมีความสุขกายสบายใจ (ในสิ่งที่ถูกที่ควร) และความสุขจะกลับคืนสู่ผู้ให้ คล้ายๆ กับที่คนไทยเรียกว่าอิ่มใจหรืออิ่มบุญกระมังครับ สำหรับคนโลภส่วนหนึ่งที่พบคือพ่อค้าแม่ขาย ซึ่งมีทั้งชาวภูฐานเองและชาวอินเดีย ยกตัวอย่างเช่น ของชนิดเดียวกัน ถ้าขยันเดินถามราคาจะพบว่า vary ตั้งแต่ 15 ไปจนถึง 150 บาท ..พาลให้นึกว่าอยู่เมืองจีนยังไงยังงั้น
ยุวชนภูฐานที่พบในเมืองหลวง ก็มีทั้งกลุ่มที่เห็นนักท่องเที่ยวแล้วปรี่เข้ามาฝึกภาษาอังกฤษด้วยการแบมือร้อง ?One dollar? ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกลุ่มที่ดูเหมือนยังไม่คุ้นเคยต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า (หรือหน้าแปลก ???)กลุ่มแรกนี่ไล่ยังไงก็ไม่ไป ในขณะที่กลุ่มหลังเรียกยังไงก็ไม่มา ..กรรม..
วัยรุ่นเมืองกรุงทั้งชาย-หญิงไม่ต้องพูดถึง อย่าให้พ้น office hour .. เขาจะแปลงร่างจากชุดประจำชาติเป็นเสื้อยืดกางเกงยีนส์ทันทีครับ ปัญหานี้น้า Littlenomad เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าคนภูฐานไม่ชอบนโยบายใส่ชุดประจำชาติเท่าไรนัก เพราะผ้าทอมือแต่ละชิ้นเป็นของที่มีราคาแพง ด้วยฐานะของคนทั่วไปซึ่งยากจนจึงนับเป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนกายใจอย่างมาก
ใน Phobjikha Valley อันเป็นเขตอพยพของเจ้านกกระเรียนคอดำตัวสวย ที่นี่ไม่มีสายไฟฟ้าเพราะเกรงว่านกจะบินมาติดตาย ชาวบ้านที่มีฐานะธรรมดาจึงต้องดำรงชีวิตด้วยเทียนไขและไม้ฟืน ฐานะดีหน่อยก็ใช้ solar cell ผมพบเด็กสาวคนหนึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.5 เชื้อเชิญไปที่บ้านด้วยท่าทีมีไมตรีจิต แต่พอถึงบ้านจริงๆ ก็เริ่มแสดงความเป็นตัวตนด้วยการขอข้าวของที่ผมมีติดตัว ไม่ได้หนึ่ง ก็ขอสอง ขอไปเรื่อยๆ เมื่อผมบ่ายเบี่ยงสำเร็จและจะลากลับ เธอก็ยังไม่ลืมที่จะบอกว่าพรุ่งนี้เดินผ่านโรงเรียนเธอให้แวะเอาขนมไปฝากด้วย ..เธอให้ที่อยู่สำหรับส่งของจากเมืองไทยไปให้เธอด้วยครับ ผมเก็บที่อยู่ไว้แต่ผมไม่เคยติดต่อกลับไปอีกเลย ทุกวันนี้ได้แต่ภาวนาให้ดวงตาของเธอเห็นธรรมและหลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลส ซึ่งคงยากมากเพราะบ้านเธออยู่ใกล้โรงแรมที่แสนจะใหญ่โตหรูหรา (หรูหราแบภูฐานนะครับ) ในขณะที่บ้านเธอทั้งหลังเป็นกระต๊อบชั้นเดียวเท่ากับเตียง 6 ฟุต 4 เตียงเรียงกันแค่นั้น ..ผมไม่โทษเธอหรอกครับ...
ในทางตรงข้าม ภาพชินตาตลอด 9 วันในภูฐาน ก็คือภาพของพุทธศาสนิกชนที่กราบอัษฎางคประดิษฐ์ตั้งแต่ตีนเขาไปจนถึงศาสนาสถานต่างๆ ซึ่งมักตั้งอยู่บนยอดเขาหรือบนหน้าผาสูง คนกลุ่มนี้มีทั้งหนุ่มสาวและเฒ่าชราเช่นกัน
งานนี้หนังชีวิตครับ ..คงต้องสู้กันอีกยาวระหว่างโลกเดิมกับโลกใหม่ เรื่องนี้ผมมองว่ากรรมใครกรรมมัน บอกสอนกันก็ใช่ว่าจะได้ผล บางคนไม่สอนก็คิดออก คงได้แค่เอาใจช่วยให้ประเทศที่น่ารักนี้หาดุลยภาพที่เหมาะสมแก่ตัวเองและยังคงข้อดีจุดเด่นของตนไว้ได้อีกนานๆ เพราะโดยส่วนตัวผมก็เชื่อว่าความพอเพียงไม่ได้แปลว่ายอมรับสภาพหรือย่ำอยู่กับที่ แต่น่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่ก่อปัญหาอื่นในภายหลัง ปัญหาคือมันอาจจะทำยากและไม่ทันใจ หรืออาจทำไปเพราะความไม่รู้ ส่วนพวกที่รู้แล้วยังทำนี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง เช่น ทำอ่าวนาง ปาย น่าน เชียงคาน ให้กลายเป็นข้าวสารหรือพัทยา ..ไม่พูดดีกว่า เดี๋ยวยาวครับ..