ตอนนี้ ทายาทของ อ.ราเชล สิกขารา ได้นำกีต้าร์คู่กาย ของอาจารย์ มาลงขายเพื่อ นำไปบำพ็ญกุศลในวาระครบรอบ 2 ปีของการเสียชีวิตของท่าน เชื่อว่าน้าๆ หลายท่านไม่รู้จัก แต่คนที่หัดเล่นกีต้าร์ ที่มีอายุ 35 ขึ้นไป คงจะต้องได้เคยอ่านตำราของ อ.ราเชล มาบ้าง ผมจึงขอนำ บทอาลัย ถึงท่าน มาลงไว้ ให้ลองอ่าน และศึกษากันดูครับ
อาลัยตำนานคนกีตาร์ ราเชล สิกขารา
สุจิต เมืองสุข / มนตรี จิรพรพนิต
ย้อนกลับไป 40 ปีก่อน ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตและ ซีดี ที่พึ่งของนักเพลง ผู้มีดนตรีในหัวใจ คือ วิทยุ แผ่นเสียงไวนิล และหนังสือเพลงตระกูล "ซองฮิตส์" ต่างๆ
ไอเอส ซองฮิตส์, เคอเรนต์ ซองฮิตส์, แซฟวี่ ซองฮิตส์ ฯลฯ สุดท้ายก็เหลือ ไอเอส ซองฮิตส์ ที่ยืนระยะได้นานกว่าเพื่อน
และเมื่อ "กีตาร์" ระบาดเข้ามาในเมืองไทย ด้วยอิทธิพลของ เอลวิส เพรสลีย์, คลิฟ ริชาร์ด และ เดอะชาโดว์, เดอะบีตเทิลส์, ครีม, จิมมี เฮนดริกซ์, ทหารจีไอที่เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย, เทศกาลวู้ดสต๊อกในปี 1969 หรือพ.ศ.2512
คอลัมน์กีตาร์ในไอเอส ซองฮิตส์ กลายเป็นคอลัมน์ฮิต ก่อนจะออกหนังสือ "เดอะ กีตาร์" ในรูปเล่มพ็อก เกตบุ๊ก ออกมารับกระแส และกลายเป็นคู่มือหลักของหนุ่มๆ นักกีตาร์ในยุคทศวรรษหกสิบ-เจ็ดสิบ
ราเชล สิกขารา เป็นหนึ่งในกำลังหลักของ ไอเอส ซองฮิตส์ และ เดอะ กีตาร์ พร้อมๆ กับสร้างผลงานของตนเอง ด้วยหนังสือและนิตยสารอีกหลายเล่ม
ราเชล หรือนามจริง บุญชู กล่ำสนอง เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อตอนเช้ามืดของวันที่ 6 ธันวาคม 2551 ด้วยวัย 62 ปี 4 เดือน 6 วัน
ที่บ้านห้องแถวสองชั้น ตรงข้ามวัดโตนด ถนนวัดโบสถ์-นนทบุรี ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี
ทิ้งผลงานเกี่ยวกับดนตรี-กีตาร์ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี และความฝันที่ยังไม่เป็นจริงเอาไว้
ผู้ก่อตั้งหนังสือ ไอเอส ซองฮิตส์ และ วงศ์สว่างการพิมพ์ เล็ก วงศ์สว่าง รื้อฟื้นความหลังครั้งแรกที่พบราเชล ให้ฟังว่า เริ่มทำไอเอส ซองฮิตส์ เมื่อพ.ศ.2507
วางขายได้ 2-3 ฉบับ มีจดหมายแนะนำตัวจากคนที่ชื่อว่า บุญชู กล่ำสนอง บอกว่าชอบผลงานของไอเอส ซองฮิตส์ อยากจะมาเป็นคอลัมนิสต์
เมื่อเรียกมาคุยกันครั้งแรก ขำมาก เพราะราเชลเป็นคนพูดติดอ่างมาก ยังบอกไปว่าติดอ่างมากขนาดนี้จะมาทำงานได้อย่างไร
ราเชลจึงร้องเพลงให้ฟัง และทำให้เล็กแปลกใจมาก เพราะร้องได้เพราะ ไม่มีสะดุดติดขัด ชัดเจนทุกพยางค์
แต่ละเพลงที่เลือกเล่นล้วนแต่เป็นเพลงหนักๆ มีสาระทั้งนั้น
ทำให้ เล็ก วงศ์สว่าง ต้องตกตะลึง และราเชลกลายเป็นคอลัมนิสต์ของไอเอส ซองฮิตส์ทันที
เล็กเล่าว่า สมัยนั้นกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีราคาถูก กำเงินเพียง 400-500 บาท หาซื้อมาเล่นได้แล้ว บุญชูจับจุดนี้มาเขียนคอลัมน์ สารานุกรมเพลง เกี่ยวกับประวัติเพลงและกีตาร์
ใช้นามปากกาว่า ราเชล สิกขารา เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของ ราวี ชังการ์ นักดนตรีอินเดียที่เขาชื่นชม
อีกคอลัมน์คือ 5-4-3-2-1 ใช้นามปากกาว่า คุณอี๊ด ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับกีตาร์
หนังสือเล่ม "มาเล่นกีตาร์กันเถอะ" เป็นผลงานอีกเล่มของราเชล ที่ยังขายได้อยู่ตลอดและพัฒนาตามแนวเพลงที่เปลี่ยนไป แต่ยังใช้เทคนิคเดิมที่ราเชล เขียนไว้จนทุกวันนี้
เล็กเล่าว่า นอกจากเป็นนักดนตรีและนักเขียนแล้ว ราเชลยังเป็นนักสะสม เป็นนักค้นคว้า มีหนังสือเกี่ยวกับเพลงทั้งหมด หนังสือที่เกี่ยวกับนักดนตรีเพื่อชีวิต คันทรี ที่เป็นสากลทุกคน
ผู้ก่อตั้งไอเอส ซองฮิตส์และเดอะ กีตาร์เผยว่า ราเชลเคยบอกว่า เสียงดนตรี คือ เสียงสวรรค์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ทำให้เขาบ้าเข้าเส้นมาตลอด
คุณป้าช่อสุนีย์ กล่ำสนอง คู่ทุกข์คู่ยากวัย 63 ปี ของราเชล รำลึกถึงวันที่ลาจากของคู่ชีวิตให้ฟังว่า
ราเชลเป็นเบาหวาน แต่น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ปกติจะไปตรวจระดับน้ำตาลทุก 2 เดือน
เป็นคนที่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี จึงแข็งแรงสดใสอยู่เสมอ
กระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เกิดมีอาการจุกเสียดเพราะอาหารไม่ย่อย จึงพาไปโรงพยาบาล
และไปตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 เดือนเดียวกัน แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงตั้งใจจะพาไปตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น
เช้ามืดวันที่ 6 ธันวาคม หลังจากตื่นขึ้นมาสวดมนต์ ราเชลนั่งดูรายการธรรมะทางโทรทัศน์ รอเวลาไปโรงพยาบาล
ระหว่างนั้น คุณป้าช่อสุนีย์เตรียมตัวไหว้พระ สังเกตเห็นราเชล นั่งหลับตาอยู่กับที่ เขย่าก็ไม่รู้สึก รีบเรียกรถพยาบาล แพทย์มาถึงแจ้งว่าไม่มีลมหายใจแล้ว แต่ยังช่วยปั๊มหายใจ ให้น้ำเกลือและฉีดยาบำรุงหัวใจ
แต่ไม่อาจกู้ชีวิต "กูรูกีตาร์" ของไทยกลับมาได้
ราเชล สิกขารา เกิดที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร เมื่อ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2489
เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ จากนั้นไปเรียนต่อวิชาช่างที่กรมอู่ทหารเรือ
เมื่อจบการศึกษารับราชการต่อในกรมอู่ทหารเรือ ต่อมาโอนย้ายไปปฏิบัติงานพิสูจน์อักษร ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สังกัดกองโรงพิมพ์ กรมสารบัญ กองทัพเรือ ลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.2547
ด้วยความหลงใหลเสียงกีตาร์ ขวนขวายหาความรู้ศึกษาด้วยตนเอง และเขียนตำราด้านดนตรีมาตั้งแต่ พ.ศ.2508 ขณะยังศึกษาอยู่
เพื่อนสนิทที่เล่นดนตรีด้วยกันเป็นประจำคือ "สำราญ ทองตัน" และ "สมบูรณ์ สกุลวิริยาภรณ์" ปัจจุบันเป็นสถาปนิก
เริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับกีตาร์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ก่อนจะมาเขียนประจำในไอเอส ซองฮิตส์
และเขียนหนังสือสอนเทคนิคการเล่นกีตาร์ไว้หลายเล่ม ล้วนแต่เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น มาเล่นกีตาร์กันเถอะ, กีตาร์มือใหม่, กีตาร์สไตล์นิ้ว
การทำหนังสือสอนเทคนิคการเล่นกีตาร์ ต้องทำเองหมดทุกอย่าง ทั้งเขียนต้นฉบับ ค้นข้อมูลตามห้องสมุดต่างๆ ซื้อหนังสือจากต่างประเทศเข้ามาศึกษา ถ่ายภาพประกอบ ออกแบบอาร์ตเวิร์ก วางเลย์เอาต์ ตีดัมมี่ จ้างคนแกะคอร์ดเพลง สำนักพิมพ์มีหน้าที่พิมพ์และจัดจำหน่ายเท่านั้น
ราคาจ้างเหมาเล่มละ 50,000 บาท เป็นเงินก้อนใหญ่มากสำหรับสมัยนั้น แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงไม่กี่บาท
แต่ราเชลยังยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรักให้มากที่สุด
พ.ศ.2518 ราเชล ร่วมกับ สำราญ ทองตัน ออกหนังสือ "โฟล์ก-Folk" รายเดือน จำหน่ายฉบับละ 5 บาท ออกมาได้ 12 ฉบับต้องยุติไป เพราะสมัยนั้นตลาดยังไม่ให้การยอมรับ
Folk เป็นหนังสือที่ไม่หนามากนัก รูปเล่มเหมาะที่จะใช้เปิดกาง แล้วเล่นกีตาร์ตามไปด้วย อาร์ตเวิร์กสวยงาม ปกและภาพประกอบโดดเด่น คัดเลือกเพลงโฟล์กภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพพร้อมกับคอร์ดกีตาร์
ปัจจุบัน "โฟล์ก" กลายเป็นของหายาก เป็นหนังสือที่นักสะสมไล่ล่าเพื่อเป็นเจ้าของ
ต่อมาออกหนังสือคู่มือเล่นกีตาร์สไตล์โฟล์ก Picking ขายคู่กับเทป เป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งต่อมา วงศ์สว่างการพิมพ์ นำไปพิมพ์จำหน่ายด้วย
หยุดเขียนให้ไอเอส ซองฮิตส์ประมาณปี 2525 จากนั้นเขียนคอลัมน์ลงนิตยสารต่างๆ
มีนายทุนมาชวนให้ทำหนังสืออีกครั้ง ชื่อ "กีตาร์มหา"ลัย" แต่ทำไปทำมากลับกลายเป็นหนี้นายทุนคนดังกล่าว จนต้องหยุดทำหนังสือตั้งแต่นั้นมา
เหลือเพียงเขียนคอลัมน์ลงในนิตยสารต่างๆ เพื่อหาเงินใช้หนี้จนหมด
ระยะนั้น เล็ก วงศ์สว่าง ได้เสนอให้ความช่วยเหลือ แต่ราเชลเห็นว่าไม่ได้เขียนบทความให้ไอเอส ซองฮิตส์แล้วจึงไม่ขอรับ แต่ระลึกถึงบุญคุณครั้งนั้นเป็นอย่างดี
ด้วยความรักในเพลงโฟล์กและบลูส์ ราเชลเคยจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีบลูส์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ แด่พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถึง 3 ครั้ง
โดยจัดที่ ตึกวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่ นายอภินันท์ โปษยานนท์ เป็นผู้อำนวยการหอศิลปวิทยนิทรรศ สถาบันวิทยบริการ
จวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ราเชลเขียนบทความลงนิตยสารต่างๆ หลายฉบับ อย่างต่อเนื่อง
ทายาทคนเดียวของราเชล ชัชชัย กล่ำสนอง ปัจจุบันทำงานราชการ อยู่กระทรวงวัฒนธรรม เผยถึงความหวัง 2 สิ่งสุดท้ายของบิดาว่า
หนึ่ง คือ หนังสือเกี่ยวกับเพลงบลูส์ ที่ราเชล เตรียมต้นฉบับไว้เสร็จแล้ว ก่อนเสียชีวิตได้ติดต่อสำนักพิมพ์ แต่สภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย จึงยังไม่มีการสรุป
ชัชชัยตั้งความหวังว่าจะเสนอไปสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะสนใจจัดพิมพ์
สำนักดังกล่าว ปัจจุบันมี นายอภินันท์ โปษยานนท์ ซึ่งเคยสนับสนุนการจัดนิทรรศการเพลงบลูส์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการอยู่
สอง คือ ความฝันเรื่องห้องสมุดดนตรี เกิดจากหลายสิบปีก่อน ราเชลไปซื้อเทปเพลงแถวท่าน้ำวังหลัง ร.พ.ศิริราช มีนักศึกษาถามคนขายว่าเพลงแจ๊ซกับบลูส์ต่างกันอย่างไร คนขายบอกว่าเหมือนกัน
จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากทำห้องสมุดดนตรี เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจอย่างลึกซึ้ง
ห้องสมุดดนตรี ต้องใช้เงินทุนมาก หนทางที่เป็นไปได้ก็คือ หากมีห้องสมุดดนตรีตามแนวคิดของราเชลเกิดขึ้น ครอบครัว "กล่ำสนอง" พร้อมบริจาคขุมความรู้ที่ราเชลสั่งสมเข้าร่วมเป็นวิทยาทาน
เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ความสวยงามของดนตรี แบบที่ราเชลเฝ้าฝันไว้
สำราญ ทองตัน
รำลึก"ราเชล สิกขารา"
สําราญ ทองตัน หรือ "อาจารย์เฒ่า" นักดนตรีและครูดนตรีชั้นนำของประเทศไทย ที่จบจากสถาบันดนตรีชั้นแนวหน้าของโลก คือ Berkley School of Music บอสตัน สหรัฐอเมริกา
ทิ้งงานดนตรีที่รุ่งโรจน์ในเมืองหลวง หอบครอบครัวกลับไปบ้านเกิด เปิดโรงเรียนดนตรี Tritone Music Studio Phuket จ.ภูเก็ต เพื่อสร้างโอกาสทางดนตรีให้เยาวชนในท้องถิ่น
สำราญย้อนอดีตให้ฟังว่า
รู้จักราเชล เมื่อประมาณ พ.ศ.2514-2515 จากการเขียนคอลัมน์ลงในไอเอส ซองฮิตส์ด้วยกัน
พูดคุยเรื่องดนตรีแล้วถูกคอมาก เพราะรอบรู้มาก เล่นกีตาร์ดี ที่สำคัญร้องเพลงไพเราะทั้งที่พูดติดอ่าง จึงสนิทสนมไปมาหาสู่กันเป็นประจำ
มีแผ่นเสียงใหม่ๆ จะนำมาอวดกัน นั่งฟังด้วยกัน เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก เพราะสมัยนั้นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ รอนานหลายเดือนกว่าจะได้มาฟังสักแผ่นหนึ่ง
มีช่วงหนึ่งรวมตัวกันเป็นวงดนตรีชื่อว่า "บลูกราส แบนด์" ไปเล่นที่โรงภาพยนตร์วงเวียนใหญ่ จัดโดย วิฑูรย์ วทัญญู นักจัดรายการวิทยุชื่อดังสมัยนั้น
แต่ขึ้นไปเล่นไม่เท่าไรกลับถูกคนดูโห่ไล่ เพราะไม่รู้จักเพลง แนวเพลง ไม่เคยฟัง และฟังไม่รู้เรื่อง
จากนั้นไม่เคยไปเล่นที่ไหนอีก นอกจากซ้อมเล่นกันเองเท่านั้น
สำราญเผยว่า นิตยสารโฟล์กที่ร่วมกันจัดทำ ทุกวันนี้คนอ่านในยุคนั้นเติบโตขึ้นมาเป็นนักจัดรายการ นักเขียน ยังพูดถึงนิตยสารโฟล์กอยู่เป็นประจำ ทำให้รู้สึกภูมิใจมาก
อาจารย์สำราญเอ่ยถึงฝีมือการเล่นกีตาร์ของราเชลว่า จัดอยู่ในขั้นใช้ได้สำหรับผู้ที่เป็นมือสมัครเล่น สามารถเป็นศิลปินเดี่ยว ร้องนำได้สบาย
ศิลปินคนโปรดของราเชล อาจารย์สำราญระบุว่า ส่วนมากเป็นนักดนตรีที่ใช้กีตาร์อะคูสติกหรือกีตาร์โปร่ง
แนวบลูส์ ได้แก่ มิสซิสซิปปี จอห์น เฮิร์ต - Mississippi John Hurt, อาร์เธอร์ "บลายด์"เบล็ก, Arthur "Blind" Blake
แนวบลูกราส ด็อก วัตสัน, แคลเรนซ์ ไวต์ - Clarence White
แนวโฟล์ก เดอะเพนแทงเกิ้ล - The Pentangle ซึ่งมีสองนักกีตาร์ เบิร์ต แจงช์ - Bert Jansch และ จอห์น เรนเบิร์น - John Renbourn เป็นสมาชิกอยู่
ส่วนงานเขียนนับว่าเป็นผู้ที่รู้รอบด้าน เพราะเป็นคนชอบอ่าน ภาษาอังกฤษดีมาก ไม่ใช่เพียงแปลตามหนังสือต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังชอบฟังเพลงด้วย สามารถเขียนถึงเพลงได้ทุกแนวตามสมัย แต่หัวใจของราเชลอยู่ที่ โฟล์ก บลูส์ และกีตาร์โปร่งเท่านั้น
"รู้จริง รักดนตรีโฟล์ก หัวใจโฟล์กเต็ม 100 และพร้อมจะถ่ายทอดให้ผู้อื่น" คือคำจำกัดความ เมื่อเอ่ยถึงราเชล สิกขารา ในความคิดของอาจารย์สำราญ
อาจารย์สำราญ มีมุมมองต่อสื่อทางด้านดนตรีในปัจจุบันว่า ได้เปรียบในเรื่องข้อมูล คนรุ่นใหม่เรียนดนตรีมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น เข้าถึงข้อมูลง่ายกว่าสมัยก่อนเพราะโลกแคบลง
แต่การที่ค้นหาและรับรู้ข้อมูลที่ง่ายและมากเกินไป ทำให้ขาดความซึมซาบอย่างลึกซึ้งในอารมณ์และความรู้สึกในดนตรี
ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ได้มาด้วยความยากลำบาก จะนั่งฟังอยู่ทั้งวัน ฟังทุกวันจนซึมซาบ
อย่างไรก็ตาม สื่อดนตรีจริงๆ อยู่ได้อย่างยากลำบาก เพราะขาดการสนับสนุนจากสปอนเซอร์
อาจเป็นเพราะเพลงบางแนวยังมีคนฟังน้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือดนตรีแจ๊ซ ที่ดูเหมือนปัจจุบันจะเป็นยุคที่เฟื่องฟูของแจ๊ซในเมืองไทย แต่หนังสือเกี่ยวกับดนตรีแจ๊ซที่มีคุณภาพกลับอยู่ได้ไม่นาน
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์